วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Week 2 สัตว์ป่าสงวน : สงวนเพื่อรักษา หรือ สงวนเพื่อให้หาย



สัตว์ป่าสงวน


  

    สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าหายาก 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ได้แก่ กระซู่ เลียงผา สมัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร กูปรี นกกระเรียน นกแต้วแล้วท้องดำ ควายป่า แมวลายหินอ่อน กวางผา เก้งหม้อ สมเสร็จ แรด พะยูน ละองหรือละมั่ง

ข้อห้ามข้อบังคับบางประการจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ควรทราบมีดังนี้

  • สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ
  • การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย
  • ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกอีแอ่น (นกแอ่นกินรัง) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน



กระซู่







กระซู่
ชื่อสามัญ : Sumatran Rhinoceros
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicermocerus sumatraensis
ชื่ออื่น : แรดสุมาตรา

เป็นแรดพันธุ์เล็กที่สุดในบรรดาแรด 5 ชนิดของโลก มี 2 นอ ความสูงที่ระดับไหล่ 1.0 - 1.4 เมตร น้ำหนัก 900-1,000 กก. มีขนปกคลุมทั้งตัว ปีนเขาเก่ง มีประสาทในการรับกลิ่นดีมาก เมื่อพบสิ่งกีดขวางจะไม่ข้าม แต่มักใช้หัวดันให้พ้นทางเดิน ชอบกินกิ่งไม้ ใบไม้และผลไม้ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 7-8 เดือน ปัจจุบันหายากมาก คาดว่าจะพบได้ในบริเวณป่าทึบตามแนวพรมแดนไทย-พม่า และชายแดนไทย-มาเลเซีย รายงานล่าสุดในปี พ.ศ.2539 พบรอยเท้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายตามป่าต่าง ๆ แห่งละตัวสองตัว เช่น แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ฮาลาบาลา จังหวัดนราธิวาส เขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เลียงผา

เลียงผา
ชื่อสามัญ : Serow
ชื่อวิทยาศาสตร์:Capricornis sumatraensis
เป็นสัตว์กีบคู่ มีเขาจำพวกแพะ ความสูงที่ระดับไหล่ 85-94 ซ.ม. น้ำหนักประมาณ 85-140 กก. อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาหรือถ้ำ สามารถเคลื่อนที่ในที่สูงชันอย่างว่องไวและปราดเปรียวมาก สามารถว่ายน้ำข้ามระหว่างเกาะกับแผ่นดินได้ มีอวัยวะรับสัมผัส ทั้งตา หู และจมูกดี กินพืชที่ขึ้นอยู่ตามที่สูง ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 7-8 เดือน ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเนื่องจากถูกล่าเพื่อเอาเขาและทำน้ำมันเลียงผา
สมัน


สมัน
ชื่อสามัญ : Schomburgk’s Deer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cervus schomburgki
ชื่ออื่น : เนื้อสมัน
เป็นกวางขนาดกลาง ความสูงระดับไหล่ 1 เมตร ได้ชื่อว่ามีเขาสวยที่สุด การแตกแขนงของเขาเมื่อโตเต็มวัยจะมีลักษณะคล้ายสุ่มที่หงายขึ้น จึงเรียกว่า "กวางเขาสุ่ม" ชอบกินยอดหญ้าอ่อน ผลไม้ และใบไม้ อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ อาศัยอยู่เฉพาะที่ราบต่ำในภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมันได้สูญพันธุ์ไปโดยสมบูรณ์เมื่อราวปี 2475 แม้แต่สมันตัวสุดท้ายของโลกก็ตายด้วยมือของมนุษย์





นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
ชื่อสามัญ : White-eyed River-Martin
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae
ชื่ออื่น : นกเจ้าฟ้า
เป็นนกนางแอ่นชนิดหนึ่ง ขนาดวัดจากปลายจงอยปากถึงโคนหางยาวประมาณ 15 ซม. พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2511 บริเวณบึงบรเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพียงแห่งเดียวในโลกและไม่พบที่อื่นอีกเลย เป็นนกที่อพยพมาในฤดูหนาว ส่วนในฤดูอื่นเชื่อว่าจะอยู่บริเวณต้นแม่น้ำปิง ชอบเกาะนอนในพงหญ้า นอนอยู่รวมกับฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ตามใบอ้อ และใบสนุ่น โฉบจับแมลงเป็นอาหาร ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว








กูปรี
ชื่อสามัญ : Kouprey
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos sauveii
ชื่ออื่น : วัวเขาเกลียว(ลาว) โคไพร

เป็นสัตว์ป่าตระกูลเดียวกับกระทิงและวัวแดง ความสูงที่ระดับไหล่ 1.7-1.9 เมตร น้ำหนักประมาณ 700-900 กก. อยู่รวมกันเป็นฝูง 2-20 ตัว มีลักษณะพิเศษคือ ตัวผู้ที่โตเต็มที่มักจะมีปลายเขาที่แตกเป็นพู่ เนื่องจากมันชอบใช้เขาแทงดินเพื่องัดหาอาหารกิน ส่วนตัวเมียมีเขาลักษณะเป็นวงเกลียว ชอบกินหญ้า ใบไม้ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9-10 เดือน พบในไทย ลาว เขมร และเวียดนามเท่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับกูปรีมีน้อยและยังถูกล่าอยู่เสมอเพราะเขามีราคาสูงมาก เป็นที่ต้องการของนักสะสม มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ได้





นกกระเรียน
ชื่อสามัญ : Sarus Crane
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grus antigone sharpie
ชื่ออื่น : -
อยู่ในตระกูลนกบินได้ขนาดใหญ่ที่สุด สูงประมาณ 150 ซม. พบตามหนอง บึง และท้องทุ่ง หากินเป็นคู่และกลุ่มครอบครัว จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว กินแมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ เมล็ดพืช และต้นอ่อนของพืชน้ำ ปัจจุบันไม่พบในประเทศไทยเพราะถูกล่า และแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย แต่ยังพบในประเทศลาวและเขมร




นกแต้วแล้วท้องดำ
ชื่อสามัญ : Gurney's Pitta
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pitta gurney
ชื่ออื่น : -
ขนาดลำตัววัดจากจงอยปากถึงโคนหางยาว 21 ซม. อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบที่ราบต่ำ ชอบทำรังบนกอระกำ และกอหวาย ซึ่งมีหนามแหลม ชอบกินไส้เดือน ส่งเสียกร้อง "วัก วัก" เพื่อประกาศอาณาเขตและร้องหาคู่ ส่งเสียงร้อง "แต้ว แต้ว" ขณะตกใจ ฤดูผสมพันธุ์เริ่มเดือนพฤษภาคม ปัจจุบันพบแห่งเดียวในโลก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จ.กระบี่ คาดว่าเหลืออยู่ไม่เกิน 100 ตัว และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้าเนื่องจาก ถิ่นที่อยู่กำลังถูกบุกรุกอย่างรุนแรง




ควายป่า
ชื่อสามัญ : Wild Water Buffalo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bubalus bubalis
ชื่ออื่น : มหิงสา
เป็นบรรพบุรุษของควายบ้าน ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าควายบ้าน รอบคอด้านหน้ามีรอยสีขาวเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวหงายอยู่ เรียกว่า "รอยเชียดคอ" ขาทั้งสี่มีสีขาวเหมือนใส่ถุงเท้า แต่ในธรรมชาติมักไม่เห็นถุงเท้านี้ เพราะควายป่าชอบแช่และลุยปลักโคลนจนถุงเท้าเปื้อนไปหมด ความสูงที่ระดับไหล่ 1.6-1.9 เมตร น้ำหนักถึง 800-1,200 กก. แต่ปราดเปรียวมาก ชอบนอนแช่ปลักให้ดินโคลนพอกลำตัวเพื่อป้องกันแมลงรบกวน มีนิสัยชอบอยู่เป็นฝูง เมื่อบาดเจ็บจะดุร้ายมาก กินใบไม้ หญ้า และหน่อไม้ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 10 เดือน ปัจจุบันพบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เท่านั้น



แมวลายหินอ่อน
ชื่อสามัญ : Marbled Cat
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pardofelis marmorata
ชื่ออื่น : -
เป็นแมวป่าขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 4-5 กก. อยู่ในป่าดงดิบและป่าดิบชื้น ชอบอยู่บนต้นไม้ หากินในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ แมลง งู นก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ปัจจุบันหายากมาก มีรายงานพบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน





กวางผา
ชื่อสามัญ : Goral
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Naemorhedus griseus
ชื่ออื่น : ม้าเทวดา
มีลักษณะคล้ายแพะ ความสูงที่ระดับไหล่ 50-70 ซม.   น้ำหนักประมาณ 20-32 กก. มีขาแข็งแรงสามารถกระโดดตามชะง่อนผาได้อย่างว่องไวและแม่นยำ พบตามยอดเขาสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี อาหารได้แก่ พืชตามสันเขาและหน้าผาหิน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 6-8 เดือน อายุประมาณ 8-10 ปี ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนน้อย พบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จ.ตาก




เก้งหม้อ
ชื่อสามัญ : Fea’s Barking Dee
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus feai
ชื่ออื่น : เก้งดำ, กวางจุก
เป็นเก้งที่มีสีคล้ำกว่าเก้งธรรมดา ทางด้านบนสีดำตัดกับสีขาวด้านล่างชัดเจน บริเวณโคนเขามีขนยาวแน่นและฟูเป็นกระจุก ชอบอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ ในป่าดงดิบตามลาดเขา จะอยู่เป็นคู่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น กินใบไม้ หญ้าและผลไม้ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน พบบริเวณชายแดนไทย-พม่า และในภาคใต้ของไทย เป็นสัตว์ในตระกูลกวางที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก



สมเสร็จ
ชื่อสามัญ : Malayan Tapir
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tapirus indicus
ชื่ออื่น : ผสมเสร็จ
เป็นสัตว์หากินกลางคืน น้ำหนักประมาณ 250-300 กก. มีประสาทสัมผัสทางกลิ่นและเสียงดีมาก มีจมูกเหมือนงวงช้าง รูปร่างเหมือนหมู เท้าเหมือนแรด จึงเรียกว่าผสมเสร็จหรือสมเสร็จ มักหากินตามที่รกทึบ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 13 เดือน พบบริเวณป่าชายแดนไทย-พม่า ตลอดลงไปจนถึงภาคใต้ของไทย









แรด
ชื่อสามัญ : Javan Rhinoceros
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhinoceros sondaicus
ชื่ออื่น : แรดชวา

มีนอเดียว ความสูงที่ระดับไหล่ 1.70-1.75 เมตร น้ำหนัก 1,500-2,000 กก. ชอบนอนในปลัก โคลนตม หนองน้ำ   เพื่อไม่ให้ถูกแมลงรบกวน มีสายตาไม่ค่อยดีนัก แต่ประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นดีมาก ชอบกินยอดไม้ ใบไม้และผลไม้ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 16 เดือน อาศัยอยู่ในป่าทึบ โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ครั้งหนึ่งเคยมีพบในบริเวณป่าชายแดนไทย พม่า ลงไปทางใต้ แต่ไม่มีใครพบแรดในธรรมชาติในเมืองไทยเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ประชากรแรดในประเทศอื่น ๆ ก็อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน ปัจจุบันยังมีเหลือแรดอยู่ในธรรมชาติเพียง 20-30 ตัวเท่านั้น โดยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม







พะยูน
ชื่อสามัญ : Dugong
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dugong dugon
ชื่ออื่น : หมูน้ำ, ปลาพะยูน
สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม น้ำหนักประมาณ 300 กก. ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินหญ้าทะเลตามบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 1 ปี ลดจำนวนลงมากเพราะติดอวน และหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญถูกทำลาย ปัจจุบันพบอยู่บริเวณเกาะลิบงและหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ประมาณ 40-50 ตัว



ละอง, ละมั่ง
ชื่อสามัญ : Eld's Deer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cervus eldi
ชื่ออื่น : -
ละอง เป็นชื่อเรียกตัวผู้ ส่วนละมั่งเป็นชื่อเรียกตัวเมีย ความสูงที่ระดับไหล่ 1.2 - 1.3 เมตร หนักประมาณ 95-150 กก. ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน กินใบไม้ ใบหญ้า และผลไม้เป็นอาหาร ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องประมาณ 7-8 เดือน มีสองชนิดย่อย คือC. e. thamin และ C. e. siamensis ปัจจุบันละองและละมั่งได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทยไปแล้ว แต่คาดว่ายังมีเหลืออยู่ตามบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา และบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนไทย-พม่า


สัตว์ป่าสงวนทั้ง 15 ชนิดที่บล็อกเกอร์ได้ให้ข้อมูล ผู้อ่านก็อาจเข้าใจได้ว่ายังมีอยู่ในประเทศไทยครบทั้ง 15 ชนิด แต่เปล่าเลยค่ะ ถ้าผู้อ่านอ่านอย่างละเอียดจะทราบว่า ได้มีข้อความเขียนว่าพบครั้งสุดท้ายเมื่อไร ซึ่งย้อนไปนานหลายสิบปีแล้วและก็ไม่เคยมีใครได้พบสัตว์ป่าสงวนบางชนิดอีก ดังเช่น กระซู่ สมัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร กูปรี แรด และละมั่ง บล็อกเกอร์จึงอยากให้ผู้อ่านมีความตระหนักถึงว่าถึงมนุษย์จะตั้งให้สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ทำไมสัตว์ป่าเหล่านี้จึงสูญพันธุ์ ลองคิดดูแล้วก็ล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งหมดแหละค่ะ สัตว์ป่าเหล่านี้อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่บรรพบุรุษของเราอย่างยาวนาน แต่เมื่อเรามีความเจริญมากขึ้น เรากลับทำร้ายพวกมันทั้งทางตรงและทางอ้อม คำถามคือถ้าสัตว์ป่าสงวนพวกนี้สูญพันธุ์ไปทั้งหมด มนุษย์อย่างพวกเราจะเดือดร้อนไหม คำตอบมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนเลยค่ะ แต่บล็อกเกอร์อยากทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้คิดตามว่า เราจะเห็นค่าของสิ่งที่มีอยู่ เมื่อเราสูญเสียมันไปแล้วเราจะต้องรอให้สูญเสียมันไปจริงๆแล้วค่อยสำนึกได้มันควรแล้วหรือ

บล็อกเกอร์เชื่อว่า จิตสำนึก คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่พึงมีต่อสัตว์ป่าสงวนเหล่านี้ของเราทุกคนยังคงมีหลงเหลืออยู่อีกไม่มากก็น้อย หากพวกเรายังไม่ได้ทำอะไรให้กับสัตว์เหล่านี้ เริ่มต้นวันนี้ยังไม่สาย หากเรามีสำนึกอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน และร่วมกันส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด เห็นคุณค่า และรณรงค์เพื่อให้สัตว์ป่าสงวนเหล่านี้คงอยู่กับพวกเราสืบไป




เครดิต: